ข้อสอบแบบจัดชุด (สุ่มโดยระบบ) (ข้อ 1)

  • 00
  • :
  • 00
  • :
  • 00
  • 00
  • :
  • 00
  • :
  • 00
 CALC 

ราปานุย
บทนำ

เมื่ออ่านบทนำแล้ว ให้คลิกที่ลูกศรถัดไป

ลองนึกดูว่า ห้องสมุดท้องถิ่นกำลังจะจัดการบรรยายในสัปดาห์หน้า การบรรยายนี้บรรยายโดยอาจารย์ท่านหนึ่งจากมหาวิทยาลัยในละแวกนั้น เธอจะมาอภิปรายเกี่ยวกับงานภาคสนามของเธอบนเกาะราปานุยที่ตั้งอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก ห่างจากประเทศชิลีไปทางทิศตะวันตกกว่า 3,200 กิโลเมตร

ชั้นเรียนวิชาประวัติศาสตร์ของนักเรียนจะเข้าร่วมฟังการบรรยายนี้ ครูได้ให้นักเรียนไปค้นคว้าข้อมูลประวัติศาสตร์ของราปานุย เพื่อที่นักเรียนจะได้มีความรู้ในเรื่องนี้บ้างก่อนที่จะเข้าร่วมฟังการบรรยาย

แหล่งข้อมูลแรกที่นักเรียนจะได้อ่านเป็นบทความในบล็อกที่เขียนโดยอาจารย์ท่านนี้ในขณะที่เธออาศัยอยู่ที่ราปานุย

ให้คลิกที่ลูกศรถัดไปเพื่ออ่านกระดานสนทนา

จากบล็อกของอาจารย์ทางด้านขวา ให้คลิกหนึ่งตัวเลือกเพื่อตอบคำถาม

จากข้อมูลในบล็อก อาจารย์ท่านนี้เริ่มงานภาคสนามของเธอเมื่อใด

ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1990
เก้าเดือนที่แล้ว
หนึ่งปีที่แล้ว
ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม
www.theprofessorblog.com/fieldwork/RapaNui
บล็อกของอาจารย์
โพสต์เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม เวลา 11.22 น.

เช้านี้เมื่อฉันมองออกไปนอกหน้าต่าง ฉันเห็นภูมิทัศน์ที่ทำให้ฉันได้เรียนรู้ที่จะรักเกาะแห่งนี้ที่ราปานุย ซึ่งบางแห่งรู้จักกันในชื่อ เกาะอีสเตอร์ ต้นหญ้าและพุ่มไม้เขียวขจี ท้องฟ้าเป็นสีฟ้าสดใส และภูเขาไฟเก่าแก่ที่ตอนนี้ดับสนิทแล้วตั้งตระหง่านอยู่เบื้องหลัง

ฉันค่อนข้างเศร้าใจที่รู้ว่า นี่เป็นสัปดาห์สุดท้ายที่ฉันจะได้อยู่บนเกาะแห่งนี้ ฉันทำงานภาคสนามเสร็จแล้วและกำลังจะกลับบ้าน วันนี้ฉันจะออกไปเดินตามเนินเขาและกล่าวอำลากับโมอายที่ฉันได้ทำการศึกษาตลอดเก้าเดือนที่ผ่านมา นี่เป็นรูปภาพบางส่วนของรูปแกะสลักที่ใหญ่โตเหล่านี้

หากคุณได้ติดตามอ่านบล็อกของฉันในปีนี้ คุณก็คงทราบแล้วว่าผู้คนที่ราปานุยได้แกะสลักโมอายเหล่านี้ไว้เมื่อหลายร้อยปีก่อน โมอายที่น่าทึ่งเหล่านี้ได้ถูกแกะสลักจากเหมืองหินแห่งเดียวกันที่อยู่ทางภาคตะวันออกของเกาะ โมอายบางตัวหนักถึงหลายพันกิโลกรัม แต่ผู้คนที่ราปานุยสามารถจะเคลื่อนย้ายโมอายไปยังสถานที่ที่อยู่ห่างไกลจากเหมืองหินแห่งนั้น โดยไม่มีปั้นจั่นหรือเครื่องจักรกลหนักใดๆ

เป็นเวลาหลายปีที่นักโบราณคดีไม่รู้ว่ารูปแกะสลักที่ใหญ่โตเหล่านี้ถูกเคลื่อนย้ายได้อย่างไร และยังคงเป็นความลี้ลับอยู่จนถึงคริสต์ทศวรรษ 1990 เมื่อคณะของนักโบราณคดีและผู้คนที่อาศัยอยู่ในราปานุยกลุ่มหนึ่งได้แสดงให้เห็นว่า โมอายสามารถถูกขนย้ายและยกขึ้นมาได้โดยใช้เชือกที่ทำจากพืช และลูกกลิ้งไม้กับรางไม้ที่ทำจากต้นไม้ขนาดใหญ่ที่ครั้งหนึ่งเคยเจริญเติบโตอยู่บนเกาะ ความลี้ลับของโมอายจึงได้ถูกเปิดเผยออกมา

อย่างไรก็ตาม มีอีกหนึ่งความลี้ลับที่ยังคงอยู่ เกิดอะไรขึ้นกับพืชและต้นไม้ขนาดใหญ่เหล่านี้ที่เคยใช้ในการเคลื่อนย้ายโมอาย ก็อย่างที่ฉันได้บอกไป เมื่อฉันมองออกไปนอกหน้าต่าง ฉันเห็นต้นหญ้าและพุ่มไม้ กับต้นไม้เล็กๆ อีกหนึ่งหรือสองต้น แต่ไม่มีอะไรที่น่าจะนำมาใช้เคลื่อนย้ายรูปแกะสลักขนาดมหึมาเหล่านี้ได้ มันเป็นปริศนาที่น่าสนใจ นี่เป็นเรื่องหนึ่งที่ฉันจะหาคำตอบลงในโพสต์และการบรรยายในภายหน้า แต่ก่อนจะถึงเวลานั้น คุณอาจสนใจที่จะค้นหาความลี้ลับนี้ด้วยตัวคุณเอง ฉันขอแนะนำให้คุณเริ่มต้นด้วยการอ่านหนังสือที่มีชื่อว่า ล่มสลาย โดย จาเร็ด ไดมอนด์ บทวิจารณ์ของหนังสือ ล่มสลาย นี้ เป็นแหล่งที่ดีในการเริ่มต้น

นักเดินทาง_14 วันที่ 24 พฤษภาคม เวลา 16.31 น.

สวัสดีครับอาจารย์! ผมติดตามผลงานของอาจารย์บนเกาะอีสเตอร์มาโดยตลอด ผมอดใจรอที่จะอ่านหนังสือ ล่มสลาย ไม่ไหวแล้ว!

เกาะ_เคบี วันที่ 25 พฤษภาคม เวลา 09.07 น.

ฉันก็ชอบอ่านประสบการณ์บนเกาะอีสเตอร์ของคุณเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ฉันคิดว่ามีอีกหนึ่งทฤษฎีที่ควรจะพิจารณา ลองอ่านบทความนี้: www.sciencenews.com/Polynesian_rats_Rapa_Nui

www.academicbookreview.com/Collapse
บทวิจารณ์ของหนังสือ ล่มสลาย

หนังสือเล่มใหม่ของจาเร็ด ไดมอนด์ เรื่อง ล่มสลาย เป็นคำเตือนอย่างชัดเจนถึงผลที่จะตามมาจากการทำลายสิ่งแวดล้อมของพวกเรา ในหนังสือเล่มนี้ ผู้แต่งได้บรรยายถึงหลายอารยธรรมที่ล่มสลายลงเนื่องจากสิ่งที่พวกเขาได้เลือกทำ และผลกระทบของการกระทำเหล่านั้นที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างที่น่าสะเทือนใจที่สุดเรื่องหนึ่งในหนังสือเล่มนี้ คือ ราปานุย

ตามที่ผู้แต่งได้เขียนไว้ ชาวโพลีนีเชียนมาตั้งถิ่นฐานที่ราปานุยในช่วงหลังจากปีคริสต์ศักราช 700 พวกเขาพัฒนาจนเป็นสังคมที่รุ่งเรืองซึ่งมีประชากรราว 15,000 คน พวกเขาแกะสลักโมอายซึ่งเป็นรูปแกะสลักที่มีชื่อเสียง และใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่พวกเขามีเพื่อเคลื่อนย้ายโมอายขนาดมหึมาเหล่านี้ไปยังสถานที่ต่างๆ รอบเกาะ เมื่อชาวยุโรปกลุ่มแรกเดินทางเข้ามาที่
ราปานุยในปี 1722 โมอายยังคงอยู่บนเกาะ แต่ต้นไม้กลับหายไปหมดแล้ว จำนวนประชากรที่ลดลงเหลือไม่กี่พันคนกำลังดิ้นรนเพื่อการอยู่รอด ไดมอนด์เขียนไว้ว่า ชาวราปานุยถางป่าเพื่อใช้ที่ดินในการเพาะปลูกและเพื่อจุดประสงค์อื่นๆ และพวกเขายังได้ล่านกหลากหลายสายพันธุ์มากจนเกินไปทั้งนกทะเลและนกป่าที่อาศัยอยู่บนเกาะ เขาคาดเดาว่าการขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติทำให้เกิดสงครามกลางเมืองและการล่มสลายของสังคมราปานุย

หนังสือที่ยอดเยี่ยมแต่ก็น่าตื่นตระหนกเล่มนี้ได้ให้บทเรียนว่า จากอดีตที่ผ่านมา มนุษย์เลือกที่จะทำลายสิ่งแวดล้อมของพวกเขาเองด้วยการตัดต้นไม้ที่มีทั้งหมดและการล่าสัตว์สายพันธุ์ต่างๆ จนสูญพันธุ์ หากมองในแง่ดี ผู้แต่งชี้ให้เห็นว่า ในวันนี้พวกเราสามารถเลือกที่จะไม่ทำผิดเช่นเดิมอีก หนังสือเล่มนี้เขียนได้ดีมากและควรค่าแก่การอ่านสำหรับทุกคนที่ห่วงใยสิ่งแวดล้อม

www.sciencenews.com/Polynesian_rats_Rapa_Nui
ข่าววิทยาศาสตร์
หนูจี๊ดทำลายต้นไม้ของราปานุยใช่หรือไม่?
โดย ไมเคิล คิมบอลล์ ผู้รายงานข่าววิทยาศาสตร์

ในปี 2005 จาเร็ด ไดมอนด์ ได้ตีพิมพ์หนังสือ ล่มสลาย ในหนังสือเล่มนี้ เขาได้บรรยายเกี่ยวกับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ที่ราปานุย (เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เกาะอีสเตอร์)

หลังจากหนังสือเล่มนี้ได้มีการตีพิมพ์เผยแพร่ไม่นานนัก ก็ทำให้เกิดการโต้เถียงกันอย่างมาก นักวิทยาศาสตร์หลายท่านตั้งข้อสงสัยต่อทฤษฎีของไดมอนด์เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนราปานุย พวกเขาเห็นด้วยว่าเมื่อชาวยุโรปกลุ่มแรกได้เดินทางมาถึงเกาะในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ต้นไม้ขนาดมหึมาได้หายไปแล้ว แต่พวกเขาไม่เห็นด้วยกับทฤษฎีของจาเร็ด ไดมอนด์เกี่ยวกับสาเหตุของการหายไปของต้นไม้

ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์สองท่าน ได้แก่ คาร์ล ลิโป และเทอร์รี่ ฮันท์ ได้เผยแพร่ทฤษฎีใหม่ พวกเขาเชื่อว่าหนูจี๊ดกินเมล็ดของต้นไม้ จึงเป็นการยับยั้งไม่ให้ต้นไม้งอกใหม่ได้ พวกเขาเชื่อว่าหนูชนิดนี้ถูกนำมาพร้อมกับเรือแคนูที่ผู้ตั้งถิ่นฐานกลุ่มแรกใช้เพื่อขึ้นฝั่งบนราปานุย อาจจะด้วยความบังเอิญหรือจงใจก็ได้

การศึกษาได้แสดงให้เห็นว่า ประชากรของหนูสามารถเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในทุกๆ 47 วัน นั่นเป็นหนูจำนวนมากที่จะต้องหาอาหารกิน เพื่อเป็นการสนับสนุนทฤษฎีของพวกเขา ลิโปและฮันท์ชี้ให้เห็นถึงซากของเมล็ดต้นปาล์มซึ่งมีรอยกัดแทะที่เกิดจากหนูแน่นอน พวกเขายอมรับว่ามนุษย์มีบทบาทสำคัญในการทำลายป่าไม้ของราปานุย แต่พวกเขาก็เชื่อว่า ในบรรดาปัจจัยต่างๆ หนูจี๊ดเป็นตัวการที่สำคัญยิ่งกว่าสิ่งใด